การปฏิวัติซินไฮ่ ของ ซุน ยัตเซ็น

สำหรับบทความหลักในหมวดหมู่นี้ ดูที่ การปฏิวัติซินไฮ่
กองทัพฝ่ายปฏิวัติใน การก่อการกำเริบอู่ชาง กำลังทำการรบในยุทธการหยางเซีย

นับแต่ปี ค.ศ. 1907 ถงเหมิงฮุ่ยทำการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติในพื้นที่ภาคใต้ของจีนสิบกว่าครั้ง ก่อนจะสำเร็จที่สุดในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ที่ อู่ชาง มณฑลหูเป่ย การปฏิวัติครั้งประวัติศาสตร์ เริ่มกระทำการอย่างเร่งด่วนในคืนวันที่ 10 ตุลาคม โดย ทหารสมาชิกพรรคปฏิวัติในกองทัพใหม่ที่ประจำการอยู่ภายในเมืองอู่ชางซึ่งนำโดยผู้บังคับการที่ชื่อว่า หลีหยวนหง (黎元洪) แต่ปราศจากผู้นำของถงเหมิงฮุ่ย คอยสั่งการแม้แต่คนเดียว เนื่องจากแผนปฏิวัติรั่วไหลไปเข้าหูทางการเข้า

ซุน ยัตเซ็น (ยืนอยู่หลังโต๊ะ) และ เจียง ไคเช็ค (ยืนบนเวที สวมเครื่องแบบ) ในพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยหวางผู่ในปี ค.ศ. 1924

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเรียกกันว่า การก่อการกำเริบอู่ชาง (武昌起义) หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า สองสิบ (双十) เนื่องจากเกิดขึ้นในวันที่ 10 เดือน 10 (ปัจจุบันชาวไต้หวันยังถือเอาวันนี้เป็นวันชาติอยู่ ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ถือเอาวันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันชาติ) ส่วนชื่อทางการของการปฏิวัตินั้นเรียกว่า การปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) เนื่องจากตามปฏิทินจันทรคตินั้นเป็น ปี ค.ศ. 1911 ชาวจีนเรียกว่าปีซินไฮ่

ประกายไฟแห่งความสำเร็จของการก่อการที่อู่ชาง ปลุกให้เกิดการปฏิวัติทั่วประเทศจีน โดยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1911 มีถึง 14 มณฑล จากทั้งหมด 24 มณฑลของจีนที่ประกาศปลดปล่อยตัวเองออกจากการปกครองของรัฐบาลชิงที่ปักกิ่ง

เดินทางกลับประเทศ

เมื่อฝ่ายปฏิวัติได้ชัยชนะในการก่อการที่อู่ชางทำให้สามารถตั้งหลักในการสู้กับราชสำนักชิงได้ ขณะนั้นซุน ยัตเซ็นกำลังลี้ภัยที่สหรัฐอเมริกาได้รับข่าวทำให้ท่านบรรลุความใฝ่ฝันและยินดีเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้ตัดสินใจนั่งเรือเดินทางผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกกลับประเทศจีน เพื่อติดตามสถานการณ์การรบอย่างใกล้ชิดและเพื่อขวัญกำลังใจของกองทัพปฏิวัติ

ในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1911 ซุน ยัตเซ็นก็กลับจากต่างประเทศมาถึงเซี่ยงไฮ้ เมื่อเรือกลไฟแล่นถึงเซี่ยงไฮ้ ที่ท่าเรือมีฝูงชนมาต้อนรับอย่างเนืองแน่น ทั้งสมาชิกพันธมิตรคณะปฏิวัติ ผู้สื่อข่าว กรรมกร พ่อค้าและชาวเมืองจำนวนมาก เมื่อซุน ยัตเซ็นลงจากเรือก็ยิ้มและชูหมวกขึ้นโบกทักทายมวลชนที่มาต้อนรับ และขณะเดินออกจากท่าเรือผู้สื่อข่าวจำนวนมากก็ห้อมล้อมไว้ แต่ละคนมีกล่องถ่ายรูปในมือและแย่งกันถ่ายรูป ซุนยัตเซ็นได้จับมือและพูดทักทายกับทุกคน ณ ที่นั้น มีนักข่าวคนหนึ่งได้ถามซุนว่า "ได้ข่าวว่าท่านได้นำเงินก้อนใหญ่และเรือรบมาจากต่างประเทศ" ซุนตอบว่า "ผมกลับมาครั้งนี้ ไม่มีเงินติดตัว แต่ที่นำติดตัวมาคือจิตใจปฏิวัติ" พลางแหวกกระเป๋ากางเกงให้นักข่าวดู นักข่าวยังได้ถามคำถามทิ้งท้ายอีกว่า "ท่านคิดอย่างไรกับชัยชนะครั้งนี้" ซุนยัตเซ็นตอบอย่างเฉียบขาดว่า "ชัยชนะครั้งนี้คือชัยชนะของพวกเราทุกคนซึ่งเป็นประชาชน"

แหล่งที่มา

WikiPedia: ซุน ยัตเซ็น http://www.britannica.com/EBchecked/topic/573697/S... http://big5.chinanews.com:89/hb/2011/04-02/2950599... http://www.chinanews.com/n/2003-12-04/26/376869.ht... http://www.countriesquest.com/asia/china/history/i... http://www.medpointeducationgroup.com/university.p... http://www.tour-bangkok-legacies.com/soi-sun-yat-s... http://www.iolani.org/wn_aboutiolani_100305_cc.htm http://www.wanqingyuan.org.sg/ https://www.britannica.com/biography/Sun-Yat-sen https://books.google.com/books?id=B9rYW5xPYEwC&pg=...